คำถามบ่อย

  • add_circleกรณีเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญเสียจำนวนมาก โดยมีทั้งคนไทยและคนต่างด้าวจะมีวิธีการออกหลักฐานการตายอย่างไร

    ตอบ

    การเสียชีวิตจากเหตุภัยธรรมชาติเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ต้องดำเนินการตามมาตรา 25 แห่ง พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 โดยเมื่อนายทะเบียนรับแจ้งการตายแล้วจะต้องรอผลการพิจารณาหรือผลการชันสูตรจากพนักงานสอบสวนก่อนจึงจะออกมรณบัตรให้ได้ แต่การปฏิบัติในการรับแจ้งการตายและการออกมรณบัตรจะมีการดำเนินการที่แตกต่างกัน ดังนี้

    1.ถ้าพบคนตายและทราบว่าผู้ตายเป็นใครนายทะเบียนสามารถรับแจ้งการตายและออกมรณบัตรได้โดยถ้าคนตายเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว) จะออกมรณบัตร ท.ร.4 และถ้าคนตายเป็นบุคคลที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก แต่มีหลักฐานอื่นแสดงว่าเป็นคนไทยก็จะเว้นการลงรายการเลข 13 หลักในมรณบัตรแต่ถ้าคนตายเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยโดยถูกต้องตามกฎหมาย (มีหนังสือเดินทาง) หรือเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ (บุคคลประเภท 6) จะออกมรณบัตร ท.ร.5 ถ้าคนตายเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา ที่มีเลข 13 หลัก เป็นบุคคลประเภท 00 จะออกมรณบัตร ท.ร.05 และถ้าคนตายเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตฯหรือเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน จะออกมรณบัตร ท.ร.051

    2. ถ้าพบคนตายแต่ไม่ทราบว่าผู้ตายเป็นใคร นายทะเบียนจะรับแจ้งการตายและออกหลักฐานใบรับแจ้งการตายจามแบบ ท.ร.4 ตอนหน้า ให้เป็นหลักฐาน แต่จะไม่ออกมรณบัตร จนกว่าจะทราบว่าผู้ตายเป็นใคร จึงจะออกมรณบัตรให้

    3. ถ้าเชื่อว่ามีคนตายแต่ไม่พบศพ นายทะเบียนจะรับแจ้งการตาย และออกหลักฐานใบรับแจ้งการตายตามแบบ ท.ร.4 ตอนหน้า ให้เป็นหลักฐาน แต่จะไม่ออกมรณบัตรจนกว่าจะพบศพของผู้ตาย จึงจะออกมรณบัตรให้ อย่างไรก็ดี กรณีนี้นายทะเบียนสามารถใช้เป็นหลักฐาน ท.ร.4 ตอนหน้า จำหน่ายรายการคนตายออกจากทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติได้ (พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฏร พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2551 มาตรา 21 และมาตรา 25 และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 ข้อ 61,62,65,66)

  • add_circleเจ้าบ้าน คือใคร จำเป็นต้องมีเจ้าบ้านหรือไม่ในบ้านแต่ละหลัง

    ตอบ

    พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร ให้ความหมายของคำว่า "เจ้าบ้าน" ไว้ดังนี้

    "เจ้าบ้าน" หมายความว่า ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้าน ในฐานะของผู้เช่า หรือในฐานะอื่นใดก็ตาม ในกรณีที่ไม่ปรากฏเจ้าบ้าน หรือเจ้าบ้านไม่อยู่ ตาย สูญหาย หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจการได้ ให้ถือว่าผู้ดูแลหรือผู้อยู่ในบ้านขณะนั้นเป็นเจ้าบ้าน

    จากความหมายของคำว่าเจ้าบ้านดังกล่าว มีประเด็นพิจารณาได้ ดังนี้

    1.ในเรื่องการครอบครองบ้าน กฏหมายได้ให้ความหมายว่า เจ้าบ้านจะต้องเป็นหัวหน้าครอบครองบ้าน แต่ในการครอบครองบ้านนั้นอาจจะครอบครองได้หลายฐานะกล่าวคือ

    1.1 ครอบครองในฐานะเจ้าของ หมายถึง การเป็นเจ้าของบ้านกล่าวคือ ผู้ใดเป็นเจ้าของบ้านผู้นั้นก็อยู่ในฐานะการเป็นเจ้าบ้านด้วย

    1.2 ครอบครองในฐานะผู้เช่า หมายถึง การที่เจ้าของบ้านให้บุคคลอื่นเช่าบ้านของตนในลักษณะที่ผู้เช่าก็อยู่ในฐานะของการเป็นเจ้าบ้าน ซึ่งในกรณีเช่นนี้เจ้าของบ้านตามข้อ 1.1 ก็จะพ้นจากการเป็นเจ้าบ้าน

    1.3 ครอบครองในฐานะอื่นๆ หมายถึง การครอบครองโดยมิใช่ในฐานะเจ้าของหรือในฐานะผู้เช่า เช่น การครอบครองในฐานะผู้บังคับบัญชาหน่วยงานราชการ ได้แก่ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาล หรือ ผู้บัญชาการเรือนจำ เป็นต้น

    2.เรื่องการปฏิบัติในหน้าที่ของเจ้าบ้าน โดยที่กฎหมายกำหนดให้บ้านแต่ละหลังจะต้องมีเจ้าบ้านอยู่ตลอดเวลา เจ้าบ้านต้องทำหน้าที่ในการแจ้งเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎร เช่น การแจ้งการเกิด การแจ้งการตาย การแจ้งการย้ายที่อยู่ หรือการแจ้งเกี่ยวกับบ้าน เป็นต้น ดังนั้น ถ้าบ้านใด

    2.1 ไม่ปรากฎเจ้าบ้าน

    2.2 เจ้าบ้านไม่อยู่

    2.3 เจ้าบ้านตาย

    2.4 เจ้าบ้านสูญหาย

    2.5 เจ้าบ้านไม่สามารถปฏิบัติกิจการได้

    ให้ถือว่า ผู้ดูแล หรือผู้อยู่ในบ้านในขณะนั้น เป็นเจ้าบ้าน (ผู้อยู่ในบ้าน หมายความว่า คนที่อยู่ในบ้านนั้น) สรุปได้ว่าเจ้าบ้านจะเป็นใคร ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ครอบครองบ้านในขณะนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ปรากฎชื่อในทะเบียนบ้านและระบุ

    สถานภาพว่าเป็นเจ้าบ้านเพียงคนเดียวโดยวิธิปฏิบัติแล้วก็ให้บันทึกปากคำเป็นหลักฐานไว้ว่าในขณะนั้นว่าใครทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน บุคคลนั้นก็จะมีฐานะเป็นเจ้าของบ้านหากปรากฎในภายหลังว่าเป็นการให้ถ้อยคำของบุคคลดังกล่าวเป็นเท็จก็จะมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญาฐานะแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อไป

     

  • add_circleการโอนอาวุธปืนมรดก (กรณีที่เจ้าของปืนเสียชีวิต) ต้องดำเนินการอย่างไร

    ตอบ

    - ใบมรณบัตร พร้อมสำเนา

    - สำเนาคำสั่งศาล กรณีศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดก

    - ถ้ามีผู้จัดการมรดกแล้ว เสนอได้เลย

    - ถ้าไม่มีผู้จัดการมรดก ต้องสอบทายาททั้งหมด ว่ายินยอมสละปืนแล้วเสนอนายทะเบียนฯ

    - ผู้ขอรับมรดกนำหลักฐานเอกสารประกอบคำร้องเช่นเดียวกับการขอรับโอนอาวุธปืนจากบุคคลมายื่นต่อนายทะเบียนท้องที่

     

    หรือสอบถามที่ศูนย์บริการประชาชน 02-356-9500-4 ต่อ งานอาวุธปืน

  • add_circleถ้าต้องการของใบอนุญาต ป.3 และ ป.4 ต้องติดต่อที่หน่วยงานใด

    ตอบ

    ติดต่อที่ศูนย์บริการประชาชน 02-356-9500-4 ต่อ งานอาวุธปืน

  • add_circleการขอสัญชาติไทยต้องติดต่อที่ใด

    ตอบ

    ติดต่อที่สำนักทะเบียนกลาง 02-281-2543 หรือสายด่วนงานทะเบียน 1548

  • add_circleการแจ้งย้ายปลายทาง ต้องมีเอกสารอะไรประกอบบ้าง

    ตอบ

    - บัตรประจำตัวของผู้ประสงค์จะย้ายปลายทาง

    - บัตรประจำตัวเจ้าของบ้าน

    - สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน

    - คำยินยอมขของเจ้าบ้านหรือเป็นหนังสือมอบอำนาจ

  • add_circleถ้าต้องการค้นหาที่อยู่ของบุคคลว่า ทางกรมการปกครองสามารถตรวจสอบให้ได้หรือไม่

    ตอบ

    เบื้องต้นให้ประชาชนติดต่อสอบถามไปที่สำนักทะเบียนกลาง 02-281-2543 หรือสายด่วนงานทะเบียน 1548