รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการทะเบียนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ลงพื้นที่ตรวจประเมินผลงานและตัดสินการคัดเลือกหมู่บ้านเข้มแข็ง ตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) ประจำปี 2566 ระดับภาค (ภาคเหนือ)
18 กันยายน 2566
ห้วงระหว่างวันที่ 11 - 14 กันยายน 2566 นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการทะเบียนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจประเมินผลงานและตัดสินการคัดเลือกหมู่บ้านเข้มแข็ง ตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) ประจำปี 2566 ระดับภาค (ภาคเหนือ) จำนวน 4 หมู่บ้าน ที่ชนะเลิศในระดับเขตตรวจราชการ ประกอบด้วย
เขตตรวจราชการที่ 15 :
บ้านป่าเส้า หมู่ที่ 9 ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
เขตตรวจราชการที่ 16 :
บ้านหนองหมด หมู่ที่ 8 ตำบลดอยงาม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย
เขตตรวจราชการที่ 17 :
บ้านโฉงกาง หมู่ที่ 7 ตำบลโคกสลุด อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก
เขตตรวจราชการที่ 18 :
บ้านเขานางต่วม หมู่ที่ 1 ตำบลวังบ่อ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
โดยคณะกรรมการตรวจประเมินฯ ได้เยี่ยมชมกิจกรรมและผลงานในหมู่บ้าน เช่น โรงสีชุมชน สโมสรฟุตบอลชุมชน โครงการจิตอาสา โครงการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุและช่วยเหลือผู้พิการ/ผู้ด้อยโอกาส การบริหารจัดการขยะ การดำเนินโครงการทางนี้มีผลผู้คนรักกัน การส่งเสริมด้านการอาชีพ การทําสลากย้อม/การทําโคมของกลุ่มผู้สูงอายุ ครัวเรือนต้นแบบชุมชน เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมการปกครองได้จัดทำโครงการคัดเลือกหมู่บ้านเข้มแข็ง ตามแนวทาง “แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” (หมู่บ้านอยู่เย็น) ประจำปี 2566 ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและให้รางวัลแก่หมู่บ้านที่คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ สามารถเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานให้แก่หมู่บ้านอื่น ๆ ได้ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับภาค
คณะกรรมการหมู่บ้านถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการทำงานของหมู่บ้านด้วยจิตสาธารณะ เพื่อ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านมีความสุข มีความรักสามัคคี เป็นหมู่บ้านอยู่เย็น เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดย รองอธิบดีกรมการปกครอง ได้เน้นย้ำให้หมู่บ้านขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกรมการปกครอง เช่น โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) ผ่านแอปพลิเคชัน ThaID เป็นต้น